วรรณคดีสมัยอยุธยา
เรื่อง
โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์
๑. ผู้แต่ง
สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
๒.จุดมุ่งหมายของเรื่อง
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณคดีวิเคราะห์ว่าวรรณคดีเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ
คือ เพื่อบันทึกเหตุการณ์มหัศจรรย์ ที่สามารถชะลอพระพุทธไสยาสน์ได้เป็นผลสำเร็จ
และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าท้ายสระ
๓.ลักษณะคำประพันธ์
คำประพันธ์ที่ใช้ในวรรณคดีเรื่องนี้คือ
โคลงสี่สุภาพ มีความยาวทั้งหมด ๖๙ บท บทที่ ๓๑ และ ๓๒ ไม่สมบูรณ์ ต้นฉบับที่ได้มาลบไปบทละ
๒ บาท
๔.
เนื้อเรื่องย่อ
กล่าวถึงน้ำกัดเซาะเขื่อนด้านตะวันตกของพระพุทธไสยาสน์
แม้วัดจะจัดการก็ไม่ได้ผล พระอธิการจึงถวายรายงานมายังกษัตริย์จึงมีรับสั่งให้
พระราชสงครามจัดการชะลอพระให้พ้นน้ำ
พระราชสงครามใช้ตะเฆ่รององค์พระแล้วกราบบังคมทูลกษัตริย์
ให้ป่าวร้องข้าราชการและประชาชนช่วยกันชะลอองค์พระไปประดิษฐานใหม่ได้ปลอดภัยเรียบร้อย
กล่าวถึงการสร้างวิหารศาลาการเปรียญพระอุโบสถ เจดีย์ เสนาสนะสงฆ์
ตอนสุดท้ายอัญเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ ทรงอภิบาลกษัตริย์
๕. ตัวอย่างคำประพันธ์บางส่วน
คำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ
วันดีมีโชคเช้า เสด็จพลัน
ยอพยู่หสู่สถานอัน แต่งไว้
ตรวจไตรไพร่พลขันธ์ ขนันขนัด
สำหรับจัดการให้ เลื่อนล้วนสกลไกรฯ
ประชาชนกล่นกลื่อนซร้อง สนองถวาย
สิ่งผสงผจงผแจงหมาย หวั่งไหว้
อิฐปิดสุวรรณหมาย ปรมาณมาก
แขกขอมปรนอมปรนมได้ ลาภเนื้อนาสวรรค์
คูขุดสุดเล่ห์เลี้ยว วงเวียน
รอบราบปราสถิตย์เสถียร ปลูกไม้
ที่สถานสะอ้านสะอาดเตียน แลลิ่ว
ไผ่สลับรดับรเดียรให้ ชอบชั้นพรรณรายฯ
สิ่งประสงจงได้ดั่ง โดยแสวง
เสร็จสรรพรรณอันแสดง ผ่องแผ้ว
เสวยสวัสดิวัทธแจง คุณเลิศ
จงพระไทยไคลแคล้ว คลาศร้ายขจายเสียฯ
๕.๑ ความหมายของคำศัพท์
๑)
ยอพยู่หสู่ ความหมาย เป็นคำโบราณที่ไม่พบความหมายในพจนานุกรมปัจจุบัน
๒) ขนัน ความหมาย (น.) ชื่อไม้ชนิดหนึ่ง (ก.) กัน,บัง,ขวาง
๓) ขนัด ความหมาย (น.)
แถว,แนว (ว.) เบียดเสียด,ยัดเยียด,แออัด
๔) สกล ความหมาย (ว.)
ทั่วไป,ทั้งหมด,ทั้งสิ้น
๕) กล่นเกลื่อน ความหมาย (ก.)
เกลื่อนกลาด,ดาษดื่น,เรี่ยรายอยู่,กระจายอยู่
๖) ซร้อง ความหมาย เป็นคำโบราณที่ไม่พบความหมายในพจนานุกรมปัจจุบัน
๗)
ผสงผจงผแจง ความหมาย (น.) ความตั้งใจ (ก.) บรรจง,ตั้งใจ
๘)
สุวรรณ ความหมาย (น.) ทอง
๙)
สถิตย์ ความหมาย (ก.) อยู่,ตั้งอยู่,ยืนอยู่,ใช้เป็นคำยกย่องแก่สิ่งหรือบุคคลที่อยู่ในฐานะสูง
๑๐)
เสถียร ความหมาย (ว.) มั่นคง,แข็งแรง,คงตัว
๑๑)
รดับรเดียร ความหมาย เป็นคำโบราณที่ไม่พบความหมายในพจนานุกรมปัจจุบัน
๑๒)
พรรณราย ความหมาย (น.) สีเลื่อมพราย,สีเลื่อมระยิบระยับ,งามผุดผ่อง
๑๓) แสวง ความหมาย (ก.) เที่ยวค้นหา,เสาะหา
๑๔) ผ่องแผ้ว ความหมาย (ว.) เปล่งปลั่ง,บริสุทธิ์,สะอาด,หมดจด
๑๕) วัทธแจง ความหมาย เป็นคำโบราณที่ไม่พบความหมายในพจนานุกรมปัจจุบัน
๑๖) แคล้ว ความหมาย (ก.) คลาด,รอดไป,พ้นไป,พลาดไป
๑๗) คลาศ ความหมาย (ก.) คลาด
๑๘) ขจาย ความหมาย (ก.) กระจาย,มักใช้คู่กับคำว่า ขจร
๕.๒
ถอดคำประพันธ์
๑๓ เช้าวันนี้เป็นวันดี
พระองค์เสด็จไป ณ
สถานที่ที่สร้างไว้พร้อมตรวจตราไพร่พลที่อยู่กันเป็นแถวอย่างเบียดเสียดและแออัด
๒๖
ประชาชนที่จัดของเตรียมไว้อย่างตั้งใจไปไหว้พระพุทธรูปหวังจะได้โชคลาภ
๔๒ ขุดคูน้ำแล้วปลูกต้นไม้ล้อมรอบ สถานที่นั้นมองดูแล้วสะอาดตา งามผุดผ่อง
๖๘ เมื่อเสร็จสิ้นทุกอย่างแล้ว
สิ่งที่หวังไว้จงได้ตามที่หวังดั่งที่ตามหา ปราศจากสิ่งร้ายทั้งปวง
๖. คุณค่า
๖.๑
คุณค่าด้านประวัติศาสตร์
ใช้อ้างอิงเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุทางศาสนา เป็นหลักฐานทางโบราณคดี สถาปัตยกรรม และการช่างฝีมือ
๖.๒
คุณค่าด้านแสดงพระบุคลิกภาพของพระมหากษัตริย์ไทย
พระบุคลิกภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเท่าที่ปรากฏอยู่ในโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์นั้น
เห็นได้ด้านเดียวคือศาสนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เอาพระราชหฤทัยใส่ทำนุบำรุงศาสนาในฐานะที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
คือเมื่อพระอธิการวัดป่าโมกข์ มากราบบังคมทูลว่า
น้ำเซาะเขื่อนเข้ามาจวนถึงวิหารพระพุทธไสยาสน์ พระองค์ก็มิได้เพิกเฉย
เป็นพระราชธุระเรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง
โปรดให้ทำการชะลอองค์พระพุทธไสยาสน์ให้พ้นจากอันตราย
๖.๓ คุณค่าด้านภาษา
ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายทำให้เกิดความเข้าใจ
และเห็นภาพชัดเจน ก่อให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
รายการอ้างอิง
สุภา ฟักข้อง.(๒๕๓๐).วรรณคดีไทยก่อนรับอิทธิพลจากตะวันตก(พิมพ์ครั้งที่
๒).กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา.
พิชิต
อัคนิจ.(๒๕๓๖).วรรณกรรมไทยสมัยกรุงสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา.กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น