วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

ชนิดของคำในภาษาไทย
คำไทยแบ่งออกเป็น ๗ ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกันออกไป การเรียนรู้เรื่องลักษณะของคำเพื่อสร้างเป็นกลุ่มคำและประโยคเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนและการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน คำแต่ละคำมีความหมาย ความหมายของคำจะปรากฏชัดเมื่ออยู่ในประโยค การสังเกตตำแหน่งและหน้าของคำในประโยคจะช่วยให้เราทราบชนิดของคำรวมทั้งความหมายด้วย ดังนั้นการศึกษาให้เข้าใจหน้าที่และชนิดของคำในประโยคจึงมีความสำคัญมากเพราะจะช่วยให้เราสามารถใช้คำได้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการ
๑.คำนาม
หมายถึง  คำที่ใช้เรียกชื่อ  คน  สัตว์  พืช  สิ่งของ  สถานที่  สภาพ  อาการ  ลักษณะ  ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิต  หรือสิ่งไม่มีชีวิต  ทั้งที่เป็นรูปธรรม  และนามธรรม  เช่นคำว่า  คน   ปลา  ตะกร้า   ไก่  ประเทศไทย  จังหวัดพิจิตร  การออกกำลังกาย  การศึกษา  ความดี  ความงาม  กอไผ่  กรรมกร  ฝูง  ตัว  เป็นต้น  
ชนิดของคำนาม
คำนามแบ่งออกเป็น  ๕  ชนิด  ดังนี้
๑ ๑.  สามานยนาม หรือเรียกว่า  คำนามทั่วไป  คือ  คำนามที่เป็นชื่อทั่วๆ ไป  เป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ โดยทั่วไปไม่ชี้เฉพาะเจาะจง  เช่น  ปลา  ผีเสื้อ  คน   สุนัข   วัด   ต้นไม้   บ้าน   หนังสือ  ปากกา  เป็นต้น
 ๑.๒  วิสามานยนาม  หรือเรียกว่า  คำนามเฉพาะ  คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อเฉาะของคน  สัตว์ หรือสถานที่  เป็นคำเรียนเจาะจงลงไปว่า เป็นใครหรือเป็นอะไร  เช่น  พระพุทธชินราช  เด็กชายวิทวัส  จังหวัดพิจิตร วัดท่าหลวง  ส้มโอท่าข่อย  พระอภัยมณี  วันจันทร์  เดือนมกราคม เป็นต้น
๓.  สมุหนาม  คือ คำนามที่ทำหน้าที่แสดงหมวดหมู่ของคำนามทั่วไป  และคำนามเฉพาะ  เช่น  ฝูงผึ้ง กอไผ่  คณะนักทัศนาจร  บริษัท  พวกกรรมกร  เป็นต้น
๔. ลักษณะนาม  คือ  เป็นคำนามที่บอกลักษณะของคำนาม  เพื่อแสดงรูปลักษณะ  ขนาด ปริมาณ  ของคำนามนั้นนั้นให้ชัดเจน  เช่น  บ้าน  ๑  หลัง  โต๊ะ  ๕  ตัว  คำว่า หลัง  และ  ตัว  เป็นลักษณะนาม
๕.  อาการนาม  คือ คำนามที่เป็นชื่อกริยาอาการ  เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม  ไม่มีรูปร่าง  มักมีคำว่า  "การ"  และ  "ความ"  นำหน้า  เช่น  การกิน  การเดิน  การพูด  การอ่าน  การเขียน ความรัก  ความดี  ความคิด  ความฝัน  เป็นต้น
หน้าที่ของคำนาม  มีดังนี้คือ
๑.  ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น
 - ประกอบชอบอ่านหนังสือ                  
-  ตำรวจจับผู้ร้าย
๒. ทำหน้าที่เป็นกรรมหรือผู้ถูกกระทำ  เช่น
 -  วารีอ่านจดหมาย                              
-  พ่อตีสุนัข
๓.  ทำหน้าที่ขยายนาม เพื่อทำให้นามที่ถูกขยายชัดเจนขึ้น  เช่น
-  สมศรีเป็นข้าราชการครู                  
-  นายสมศักดิ์ทนายความฟ้องนายปัญญาพ่อค้า
๔.ทำหน้าที่เป็นส่วนสมบูรณ์หรือส่วนเติมเต็ม เช่น
 -  ศรรามเป็นทหาร                            
 -  เขาเป็นตำรวจแต่น้องสาวเป็นพยาบาล
๕. ใช้ตามหลังคำบุพบทเพื่อทำหน้าที่บอกสถานที่ หรือขยายกริยาให้มีเนื้อความบอกสถานที่ชัดเจนขี้น  เช่น
 -  คุณแม่ของเด็กหญิงสายฝนเป็นครู    
-  นักเรียนไปโรงเรียน
๖. ใช้บอกเวลาโดยขยายคำกริยาหรือคำนามอื่น เช่น
-  คุณพ่อจะไปเชียงใหม่วันเสาร์            
-  เขาชอบมาตอนกลางวัน
๗.  ใช้เป็นคำเรียกขานได้ เช่น
 -  น้ำฝน ช่วยหยิบปากกาให้ครูทีซิ         
-  ตำรวจ ช่วยฉันด้วย
๒.คำสรรพนาม
คำสรรพนาม  หมายถึง  คำที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงมาแล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำอีก  เช่นคำว่า  ฉัน  เรา  ดิฉัน  กระผม  กู คุณ  ท่าน  ใต้เท้า  เขา  มัน  สิ่งใด  ผู้ใด  นี่  นั่น  อะไร  ใคร  บ้าง เป็นต้น
ชนิดของคำสรรพนาม
คำสรรพนามแบ่งออกเป็น  ๖  ชนิด ดังนี้
๑.  บุรษสรรพนาม  คือ  คำ  สรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด  แบ่งเป็นชนิดย่อยได้  ๓  ชนิด  คือ
๑.๑  สรรพนามบุรุษที่ ๑  ใช้แทนตัวผู้พูด  เช่น ผม  ฉัน  ดิฉัน  กระผม  ข้าพเจ้า  กู  เรา  ข้าพระพุทธเจ้า  อาตมา  หม่อมฉัน เกล้ากระหม่อม
๑.๒  สรรพนามบุรุษที่ ๒  ใช้แทนผู้ฟัง หรือผู้ที่เราพูดด้วย  เช่น  คุณ  เธอ  ใต้เท้า  ท่าน  ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฝ่าพระบาท  พระคุณเจ้า
๑.๓  สรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง  เขา  มัน  ท่าน  พระองค์
๒.  ประพันธสรรพนาม  คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามและใช้เชื่อมประโยคทำหน้าที่เชื่อมประโยคให้มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่คำว่า  ที่  ซึ่ง  อัน  ผู้ 
๓.  นิยมสรรพนาม  คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามชี้เฉพาะเจาะจงหรือบอกกำหนดความให้ผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจกัน ได้แก่คำว่า  นี่  นั่น  โน่น
๔.  อนิยมสรรนาม  คือ สรรพนามใช้แทนนามบอกความไม่ชี้เฉพาะเจาะจงที่แน่นอนลงไป  ได้แก่คำว่า  อะไร  ใคร ไหน  ได  บางครั้งก็เป็นคำซ้ำๆ  เช่น  ใครๆ  อะไรๆ  ไหนๆ  ๕.  วิภาคสรรพนาม  คือ  สรรพนามที่ใช้แทนคำนาม  ซึ่งแสดงให้เห็นว่านามนั้นจำแนกออกเป็นหลายส่วน  ได้แก่คำว่า  ต่าง  บ้าง  กัน เช่น
 -  นักเรียน"บ้าง"เรียน"บ้าง"เล่น      
  -  นักเรียน"ต่าง"ก็อ่านหนังสือ
๖.  ปฤจฉาสรรพนาม  คือ  สรรพนามที่ใช้แทนนามที่เป็นคำถาม ได้แก่คำว่า  อะไร  ใคร  ไหน  ผู้ใด  สิ่งใด  ผู้ใด  ฯลฯ  เช่น
  -  "ใคร" ทำแก้วแตก                            
-  เขาไปที่ "ไหน"
หน้าที่ของคำสรรพนาม  มีดังนี้คีอ
๑.  เป็นประธานของประโยค เช่น
-  "เขา"ไปโรงเรียน                       
-  "ใคร"ทำดินสอตกอยู่บนพื้น
๒.  ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค (ผู้ถูกกระทำ)  เช่น
   -  ครูจะตี"เธอ"ถ้าเธอไม่ทำการบ้าน     
 -  คุณช่วยเอา"นี่"ไปเก็บได้ไหม
๓. ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มหรือส่วนสมบูรณ์  เช่น
-  กำนันคนใหม่ของตำบลนี้คือ"เขา"นั่นเอง    
-   เขาเป็น"ใคร"
๔. ใช้เชื่อมประโยคในประโยคความซ้อน  เช่น
-  ครูชมเชยนักเรียน"ที่"ขยัน
๕. ทำหน้าที่ขยายนามที่ทำหน้าที่เป็นประธานหรือกรรมของประโยค เพื่อเน้นการแสดงความรู้สึกของผู้พูด จะวางหลังคำนาม
๓.คำกริยา
คำกริยา  หมายถึง  คำแสดงอาการ  การกระทำ  หรือบอกสภาพของคำนามหรือคำสรรพนาม  เพื่อให้ได้ความ  เช่นคำว่า  กิน  เดิน  นั่ง นอน  เล่น  จับ  เขียน  อ่าน  เป็น  คือ  ถูก  คล้าย  เป็นต้น
ชนิดของคำกริยา
คำกริยาแบ่งเป็น  ๕  ชนิด
๑.  อกรรมกริยา  คือ คำกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับก็ได้ความสมบูรณ์  เข้าใจได้  เช่น
  -  เขา"ยืน"อยู่                     
-  น้อง"นอน"
๒.  สกรรมกริยา  คือ คำกริยาที่ต้องมีกรรมมารับ  เพราะคำกริยานี้ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เช่น
-  ฉัน "กิน"ข้าว           (ข้าวเป็นกรรมที่มารับคำว่ากิน)
-  เขา"เห็น"นก           (นกเป็นกรรมที่มารับคำว่าเห็น)
๓.  วิกตรรถกริยา  คือ คำกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง  ใช้ตามลำพังแล้วไม่ได้ความ ต้องมีคำอื่นมาประกอบจึงจะได้ความ  คำกริยาพวกนี้คือ  เป็น  เหมือน  คล้าย  เท่า คือ  เช่น
-  เขา"เป็น"นักเรียน                    
-  เขา"คือ"ครูของฉันเอง
๔.  กริยานุเคราะห์  คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่ช่วยคำกริยาสำคัญในประโยคให้มีความหมายชัดเจนขึ้น  ได้แก่คำว่า จง  กำลัง  จะ  ย่อม  คง  ยัง  ถูก  นะ  เถอะ  เทอญ ฯลฯ  เช่น
-  นายดำ"จะ"ไปโรงเรียน                      
-  เขา"ถูก"ตี
๕.  กริยาสภาวมาลา  คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นคำนามจะเป็นประธาน  กรรม  หรือบทขยายของประโยคก็ได้ เช่น
-  "นอน"หลับเป็นการพักผ่อนที่ดี               (นอน เป็นคำกริยาที่เป็นประธานของประโยค)
-  ฉันชอบไป"เที่ยว"กับเธอ                       (เที่ยว เป็นคำกริยาที่เป็นกรรมของประโยค)

หน้าที่ของคำกริยา มีดังนี้คือ
๑. ทำหน้าที่เป็นตัวแสดงในภาคแสดงของประโยค  เช่น
-  ขนมวางอยู่บนโต๊ะ                            
-  นักเรียนอ่านหนังสือทุกวัน
๒.  ทำหน้าที่ขยายคำนาม เช่น
 -  วันเดินทางของเขาคือวันพรุ่งนี้         ("เดินทาง"  เป็นคำกริยาที่ไปขยายคำนาม "วัน")
๓.  ทำหน้าที่ขยายกริยา เช่น
 -  เด็กคนนั้นนั่งดูนก     ("ดู" เป็นคำกริยาที่ไปขยายคำกริยา "นั่ง")
๔.  ทำหน้าที่เหมือนคำนาม เช่น
-  ออกกำลังกายทุกวันทำให้ร่างกายแข็งแรง ("ออกกำลังกาย"  เป็นคำกริยา ทำหน้าที่เป็น ประธานของประโยค)
 -  เด็กชอบเดินเร็วๆ   ("เดิน"  เป็นคำกริยา  ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค)
๔.คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์  หมายถึง คำที่ใช้ประกอบหรือขยายคำนาม  สรรพนาม  คำกริยา  หรือคำวิเศษณ์ เพื่อให้ได้ใจความชัดเจนและละเอียดมากขึ้น  เช่น
-   คนอ้วนกินจุ
("อ้วน" เป็นคำวิเศษณ์ที่ขยายคำนาม "คน" "จุ" เป็นคำวิเศษณ์ที่ขยายคำกริยา "กิน"
 -   เขาร้องเพลงได้ไพเราะ
("ไพเราะ" เป็นคำวิเศษณ์ที่ขยายคำกริยา "ร้องเพลง")
-  เขาร้องเพลงได้ไพเราะมาก
 ("มาก" เป็นคำวิเศษณ์ที่ขยายคำวิเศษณ์  "ไพเราะ")
ชนิดของคำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์แบ่งออกเป็น  ๑๐  ชนิด ดังนี้
๑.  ลักษณะวิเศษณ์  คือ คำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะต่างๆ เช่น  บอกชนิด  สี  ขนาด  สัณฐาน  กลิ่น  รส บอกความรู้สึก  เช่น  ดี  ชั่ว  ใหญ่  ขาว  ร้อน  เย็น  หอม  หวาน  กลม  แบน เป็นต้น  เช่น
 -  น้ำร้อนอยูในกระติกสีขาว
 -  จานใบใหญ่ราคาแพงกว่าจานใบเล็ก
๒.  กาลวิเศษณ์  คือ คำวิเศษณ์บอกเวลา  เช่น  เช้า  สาย  บ่าย  เย็น  อดีต  อนาคต  เป็นต้น เช่น
-  พรุ่งนี้เป็นวันเกิดของคุณแม่
-  เขามาโรงเรียนสาย
๓.  สถานวิเศษณ์  คือ คำวิเศษณ์บอกสถานที่  เช่น ใกล้ ไกล  บน  ล่าง  เหนือ ใต้  ซ้าย ขวา  เป็นต้น เช่น
-  บ้านฉันอยู่ไกลตลาด
-  นกอยู่บนต้นไม้
๔.  ประมาณวิเศษณ์  คือ คำวิเศษณ์บอกจำนวน หรือปริมาณ  เช่น  หนึ่ง  สอง  สาม  มาก  น้อย  บ่อย  หลาย บรรดา  ต่าง  บ้าง  เป็นต้น  เช่น
 -  เขามีเงินห้าบาท
-  เขามาหาฉันบ่อยๆ
๕.  ประติเษธวิเศษณ์  คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงความปฏิเสธ  หรือไม่ยอมรับ  เช่น  ไม่  ไม่ใช่  มิ  มิใช่  ไม่ได้ หามิได้  เป็นต้น  เช่น
 -  เขามิได้มาคนเดียว
 -  ของนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันจึงรับไว้ไม่ได้
๖.  ประติชญาวิเศษณ์  คือ  คำวิเศษณ์ที่ใช้แสดงการขานรับหรือโต้ตอบ เช่น ครับ ขอรับ ค่ะ เป็นต้น เช่น
-  คุณครับมีคนมาหาขอรับ
-  คุณครูขา  สวัสดีค่ะ
๗.  นิยมวิเศษณ์  คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ เช่น นี้ นั่น โน่น ทั้งนี้ ทั้งนั้น  แน่นอน เป็นต้น เช่น
-  บ้านนั้นไม่มีใคราอยู่
-  เขาเป็นคนขยันแน่ๆ
๘.  อนิยมวิเศษณ์  คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความไม่ชี้เฉพาะ เช่น ใด อื่น ไหน อะไร ใคร ฉันใด เป็นต้น เช่น
-  เธอจะมาเวลาใดก็ได้
-  คุณจะนั่งเก้าอี้ตัวไหนก็ได้
๙. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ  คำวิเศษณ์แสดงคำถาม หรือแสดงความสงสัย  เช่น ใด  ไร  ไหน อะไร  สิ่งใด  ทำไม เป็นต้น  เช่น
-  เสื้อตัวนี้ราคาเท่าไร
-  เขาจะมาเมื่อไร
๑๐.  ประพันธวิเศษณ์  คือ คำวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมคำหรือประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกัน เช่นคำว่า ที่ ซึ่ง  อัน  อย่าง  ที่ว่า  เพื่อว่า  ให้  เป็นต้น  เช่น
-  เขาทำงานหนักเพื่อว่าเขาจะได้มีเงินมาก
 -  เขาทำความดี อัน หาที่สุดมิได้
หน้าที่ของคำวิเศษณ์  มีดังนี้คือ
๑.  ทำหน้าที่ขยายคำนาม เช่น
-  คนอ้วนกินจุ        ( "อ้วน" เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำนาม "คน")
 -  ตำรวจหลายคนจับโจรผู้ร้าย   ("หลาย" เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำนาม "ตำรวจ")
๒.  ทำหน้าที่ขยายคำสรรพนาม เช่น
 -  เราทั้งหมดช่วยกันทำงานให้เรียบร้อย("ทั้งหมด" เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำสรรพนาม "เรา")
-  ฉันเองเป็นคนพูด   ( "เอง" เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำสรรพนาม "ฉัน")
๓.  ทำหน้าที่ขยายกริยา  เช่น
 -  เด็กคนนั้นนั่งดูนก     ("ดู"  เป็นคำกริยาที่ไปขยายคำกริยา "นั่ง")
๔.  ทำหน้าที่เหมือนคำนาม  เช่น
-  ออกกำลังกายทุกวันทำให้ร่างกายแข็งแรง("ออกกำลังกาย"  เป็นคำกริยา  ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค)
-  เด็กชอบเดินเร็วๆ           ("เดิน"  เป็นคำกริยา  ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค)
๕. ทำหน้าที่เป็นตัวแสดงในภาคแสดง  เช่น
-  เธอสูงกว่าคนอื่น
-  ขนมนี้อร่อยดี
๕.คำบุพบท
คำบุพบท  หมายถึง คำที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือประโยค เพื่อให้ทราบว่าคำหรือกลุ่มคำที่ตามหลังคำบุพบทนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มคำข้างหน้าในประโยคในลักษณะใด เช่น  กับ  แก่  แต่  ต่อ  ด้วย  โดย  ตาม  ข้าง  ถึง  จาก  ใน  บน  ใต้  สิ้น สำหรับ  นอก  เพื่อ  ของ  เกือบ  ตั้งแต่ แห่ง  ที่  เป็นต้น เช่น  เขามาแต่เช้า   บ้านของคุณน่าอยู่จริง คุณครูให้รางวัลแก่ฉัน  เขาให้รางวัลเฉพาะคนที่สอบได้ที่หนึ่ง
ชนิดของคำของคำบุพบท
คำบุพบทแบ่งออกเป็น  ๒  ชนิด
๑. คำบุพบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำต่อคำ  คือ  ความสัมพันธ์ระหว่างคำนามกับคำนาม  คำสรรพนามกับคำนาม  คำนามกับคำกริยา  คำสรรพนามกับคำสรรพนาม  คำสรรพนามกับคำกริยา คำกริยากับคำนาม  คำกริยากับคำสรรพนาม  คำกริยากับคำกริยา เพื่อบอกสถานการให้ชัดเจน  เช่น
๑.๑ บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของ  เช่น
-  พ่อซื้อสวนของนายทองคำ   (นามกับนาม)
 ๑.๒ บอกความเกี่ยวข้อง  เช่น
 -  เขาเห็นแก่กิน    (กริยากับกริยา)
๑.๓ บอกการให้และบอกความประสงค์  เช่น
-  คุณครูให้รางวัลแก่ฉัน   (นามกับสรรพนาม)
๑.๔  บอกเวลา เช่น
-  เขามาตั้งแต่เช้า   (กริยากับนาม)
๑.๕  บอกสถานที่ เช่น
-  เขามาจากต่างจังหวัด  (กริยากับนาม)
๑.๖  บอกความเปรียบเทียบ เช่น
-  พี่หนักกว่าฉัน    (กริยากับสรรพนาม)
๒. คำบุพบทที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคำอื่น  ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค ใช้เป็นการทักทาย  มักใช้ในคำประพันธ์  เช่นคำว่า  ดูก่อน  ข้าแต่  ดูกร คำเหล่านี้ใช้นำหน้าคำสรรพนามหรือคำนาม  เช่น
-  ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย
-  ข้าแต่ท่านทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้า
หน้าที่ของคำบุพบท  มีดังนี้คือ
๑.  ทำหน้าที่นำหน้านาม เช่น
 -  หนังสือของพ่อหาย                               
-  เขาไปกับเพื่อน
๒.  ทำหน้าที่นำหน้าสรรพนาม เช่น
-  ปากกาของฉันอยู่ที่เขา                         
-  ฉันชอบอยู่ใกล้เธอ
๓.  ทำหน้าที่นำหน้ากริยา เช่น
-  เขากินเพื่ออยู่                                     
-  เขาทำงานกระทั่งตาย
๔.  ทำหน้าที่นำหน้าประโยค เช่น
-  เขามาตั้งแต่ฉันตื่นนอน                     
-  เขาพูดเสียงดังกับคนไข้
๕.  ทำหน้าที่นำหน้าคำวิเศษณ์ เช่น
-  เขาต้องมาหาฉันโดยเร็ว                        
-  เขาเลวสิ้นดี
๖.คำสันธาน
คำสันธาน  หมายถึง  คำที่ใช้เชื่อมประโยค หรือข้อความกับข้อความ  เพื่อทำให้ประโยคนั้นรัดกุม  กระชับและสละสลวย  เช่นคำว่า และ  แล้ว  จึง  แต่  หรือ  เพราะ  เหตุเพราะ  เป็นต้น เช่น
-  เขาอยากเรียนหนังสือเก่งๆ แต่เขาไม่ชอบอ่านหนังสือ
-  เขามาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก
ชนิดของคำสันธาน
คำสันธานแบ่งเป็น  ๔  ชนิด ดังนี้
๑. คำสันธานที่เชื่อมความคล้อยตามกัน  ได้แก่คำว่า  และ  ทั้ง...และ  ทั้ง...ก็ ครั้น...ก็  ครั้น...จึง  ก็ดี  เมื่อ...ก็ว่า  พอ...แล้ว เช่น
-  ทั้งพ่อและแม่ของผมเป็นคนใต้
-  พอทำการบ้านเสร็จแล้วฉันก็นอน
๒. คำสันธานที่เชื่อมความขัดแย้งกัน  เช่นคำว่า  แต่  แต่ว่า  กว่า...ก็  ถึง...ก็ เป็นต้น  เช่น
-  ผมต้องการพูดกับเขา แต่เขาไม่ยอมพูดกับผม
-   กว่าเราจะเรียนจบเพื่อนๆ ก็ทำงานหมดแล้ว
๓. คำสันธานที่เชื่อมข้อความให้เลือก  ได้แก่คำว่า  หรือ  หรือไม่  ไม่...ก็ หรือไม่ก็  ไม่เช่นนั้น  มิฉะนั้น...ก็  เป็นต้น  เช่น
-  นักเรียนชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือภาษาไทย
-  เธอคงไปซื้อของหรือไม่ก็ไปดูหนัง
๔. คำสันธานที่เชื่อมความที่เป็นเหตุเป็นผล  ได้แก่คำว่า  เพราะ  เพราะว่า ฉะนั้น...จึง  ดังนั้น  เหตุเพราะ  เหตุว่า  เพราะฉะนั้น...จึง  เป็นต้น เช่น
-  นักเรียนมาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก
-  เพราะวาสนาไม่ออกกำลังกายเธอจึงอ้วนมาก
หน้าที่ของคำสันธาน  มีดังนี้คือ
๑.  เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น
-  เขามีเงินมากแต่เขาก็หาความสุขไม่ได้
-  พ่อทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ
-  ฉันอยากได้รองเท้าที่ราคาถูกและใช้งานได้นาน
๒.  เชื่อมคำกับคำหรือกลุ่มคำ เช่น
-  สมชายลำบากเมื่อแก่
-  เธอจะสู้ต่อไปหรือยอมแพ้
-  ฉันเห็นนายกรัฐมนตรีและภริยา
๓.  เชื่อมข้อความกับข้อความ เช่น
-  ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่เมืองไทย เขาขยันหมั่นเพียรไม่ยอมให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เขาจึงร่ำรวย จนเกือบจะซื้อแผ่นดินไทยได้ทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจงตื่นเถิด จงพากันขยันทำงานทุกชนิดเพื่อจะได้รักษาผืนแผ่นดินของไทยไว้
๗.คำอุทาน
คำอุทาน  หมายถึง  คำที่แสดงอารมณ์ของผู้พูดในขณะที่ตกใจ  ดีใจ  เสียใจ  ประหลาดใจ หรืออาจจะเป็นคำที่ใช้เสริมคำพูด  เช่นคำว่า  อุ๊ย  เอ๊ะ  ว้าย  โธ่  อนิจจา  อ๋อ  เป็นต้น  เช่น
-  เฮ้อ!  ค่อยยังชั่วที่เขาปลอดภัย
-  เมื่อไรเธอจะตัดผมตัดเผ้าเสียทีจะได้ดูเรียบร้อย
ชนิดของคำอุทาน
คำอุทานแบ่งเป็น  ๒  ชนิด ดังนี้
๑.  คำอุทานบอกอาการ  เป็นคำอุทานที่แสดงอารมณ์  และความรู้สึกของผู้พูด  เช่น
ตกใจ             ใช้คำว่า         วุ้ย  ว้าย  แหม  ตายจริง
ประหลาดใจ    ใช้คำว่า         เอ๊ะ  หือ  หา
รับรู้ เข้าใจ      ใช้คำว่า         เออ  อ้อ  อ๋อ
เจ็บปวด           ใช้คำว่า         โอ๊ย  โอย  อุ๊ย
สงสาร เห็นใจ   ใช้คำว่า         โธ๋  โถ  พุทโธ่   อนิจจา
ร้องเรียก          ใช้คำว่า         เฮ้ย   เฮ้   นี่
โล่งใจ              ใช้คำว่า         เฮอ  เฮ้อ
โกรธเคือง        ใช้คำว่า         ชิชะ   แหม
๒.  คำอุทานเสริมบท เป็นคำอุทานที่ใช้เป็นคำสร้อยหรือคำเสริมบทต่างๆ คำอุทานประเภทนี้บางคำเสริมคำที่ไม่มีความหมายเพื่อยืดเสียงให้ยาวออกไป บางคำก็เพื่อเน้นคำให้กระชับหนักแน่น  เช่น
-  เดี๋ยวนี้มือไม้ฉันมันสั่นไปหมด
-  หนังสือหนังหาเดี๋ยวนี้ราคาแพงมาก
-  พ่อแม่ไม่ใช่หัวหลักหัวตอนะ
หน้าที่ของคำอุทาน  มีดังนี้คือ
๑.  ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกของผู้พูด  เช่น
-  ตายจริง!  ฉันลืมเอากระเป๋าสตางค์มา
-  โธ่! เธอคงจะหนาวมากละซิ
-  เอ๊ะ! ใครกันที่นำดอกไม้มาวางไว้ที่โต๊ะของฉัน
๒.  ทำหน้าที่เพิ่มน้ำหนักของคำ  ซึ่งได้แก่คำอุทานเสริมบท  เช่น
-  ทำเสร็จเสียทีจะได้หมดเรื่องหมดราวกันไป
-  เมื่อไรเธอจะหางงหางานทำเสียที
-  เธอเห็นฉันเป็นหัวหลักหัวตอหรืออย่างไร
๓. ทำหน้าที่ประกอบข้อความในคำประพันธ์  เช่น
-  แมวเอ๋ยแมวเหมียว
-  มดเอ๋ยมดแดง
-  กอ เอ๋ย กอไก่


อ้างอิง

 http://www.thaigoodview.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น