วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556


ตำนานป่าหิมพานต์ (Legendary of Himmaphan)
ในสมัยก่อน เมื่อครั้งนั้นโลกยังมีลักษณะแบนคล้ายหลังเต่า มีเสาค้ำจุลโลกในยุคนั้นตั้งชี้สูงขึ้นไปยังดวงอาทิตย์ พื้นโลกเต็มไปด้วยสรรพสัตว์นานาชนิด มีการเข่นฆ่ากันอย่างปกติ ไร้เมตตา ผู้อ่อนแอย่อมเป็นเหยื่อของผู้ที่แข็งแกร่ง และพื้นที่ส่วนใหญ่ยังปกครองด้วยป่า ซึ่งเราเรียกโลกนั้นว่า โลกาหิมพานต์
ป่าหิมพานต์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่มากมาย โดยมีการจัดหมวดหมู่ประเภทออกเป็นกลุ่มๆ สัตว์ปีก สัตว์น้ำ และพวกที่อยู่บนบก ใจกลางของป่าหิมพานต์ซึ่งเข้าไปในป่าลึกนั้น มีเสาค้ำจุนโลกอยู่ พื้นของเสานั้นมีซากปลาขนาดใหญ่ล้อมพันไว้ มีชื่อว่าปลาอานนท์ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ในอดีตเคยรองรับโลกไว้ ห่างไกลออกไปไม่เท่าไหร่ มีระมาดตัวหนึ่งผู้มีพละกำลังมหาศาลที่สุดในโลกาหิมพานต์ ซึ่งไม่มีผู้ใดต่อกรเรื่องกำลังกับระมาดตัวนี้ได้ แม้แต่ พญานาคผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ หรือพญาครุฑผู้มีอำนาจ ระมาดเหลียวมองไปพบกับเทพกินรีผู้เลอโฉม จึงนึกอยากจะเชยชม กินรีจึงรีบบินหนี ระมาดเกิดโทสะ ไล่จับ แต่กินรีมีความคล่องตัวสูงจึงหลบหลีกได้เรื่อยไป ระมาดหยิบก้อนหิน ต้นไม้ไล่ขว้าง ไล่ล่า จากแรงกำลังของระมาดทำให้สั่นสะเทือนไปทั่ว เดือดร้อน พญาครุฑทราบเรื่อง จึงเข้าขวาง ระมาด ยิ่งจับไม่ได้ก็รู้สึกหงุดหงิดยิ่งขึ้น ซ้ำยังมีคนมาขัดขวาง ระมาดจึงรวบรวมพละกำลังทั้งหมดพุ่งเข้าต่อกร การต่อสู้ทำให้พื้นน้ำสั่นสะเทือน ปลาน้อยใหญ่ล้วนเดือดร้อนพญานาคจึงขึ้นไปหมายหยุด  พญาครุฑเมื่อเห็นพญานาคศัตรู ก็ตกใจนึกว่าพญานาคหมายสู้รบกับตน จึงเสียท่า ถูกระมาดพุ่งชนประทะกับพญานาค จนสิ้นชีพ แรงประทะทั้ง 3 และแรงมหาศาลของระมาดชนกับเสาค้ำจุนโลก จนเสาค้ำจุนโลกเอียงและไปกระทบกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงอาทิตย์แตกแยกเป็น 2 โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดความร้อนขึ้นเนื่องจากพระอาทิตย์แยกเป็น 2 ไม่มีกลางคืน มีแต่ท้องฟ้าลำสีส้ม น้ำระเหยแทบเหือด เหล่าสัตว์หิมพานต์จึงได้พยายามหาทางขจัดเภทภัยครั้งนี้ กบิลปักษา ผู้มีลักษณะเซ่อซ่า จัดเป็นชนชั้นต่ำ ได้แต่เหลียวมองการประชุม เนื่องจากแอบหลงชอบกินรี นั่งแกะสลักหินรูปนางกินรีทุกเพลา พร่ำเพ้อถึงนางให้ วเนกำพู เพื่อนพี่รู้จักกันมานานและสัตว์เนรมิตที่กบิลปักษาเลี้ยง นาม มนุษาสิงห์ การประชุมไม่มีทีท่าในทางที่ดี ทุกเผ่าพันธุ์ ต่างอยากจะแสดงความสามารถ ทั้งลนลาน ทั้งตื่นตระหนก พญานาคผู้ปราดเปรื่องคิดได้ว่า ต้องทำลายเสาเพื่อที่เสา จะได้ชนพระอาทิตย์อีกดวงดีดไปไกล จึงถอดดวงอิทธิฤทธิ์แล้วซัดเข้าไปที่เสา เพื่อที่จะพังเสา แต่กลับไม่เป็นผลสำเร็จ นางกินรีพยายามที่จะให้ทุกคนผ่อนคลาย จึงเล่นดนตรีและร่ายรำ เป็นที่งดงามและสะกดทุกสายตา รวมทั้งกบิลปักษาผู้ต้อยต่ำ ยิ่งทำให้กบิลปักษาหลงใหล เหล่าคชสีห์ แลสิงห์ ต่างใช้พละกำลังหมายทำลายเสา แต่ก็ไม่มีใครทำสำเร็จ สิ่งมีชีวิตเริ่มสิ้นใจจากความร้อนไปเรื่อยๆ แม้แต่  มนุษาสิงห์ สัตว์เลียงของกบิลปักษาก็ใกล้จะสิ้นใจ  พญานาคจึงนึกถึงคำกล่าว ว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสรรพสิ่งได้นั่นย่อมเกิดจากหัวใจ แต่ไม่มีผู้ใดกล้า พิสูจน์ กล้าที่จะลอง แม้แต่พญานาคผู้ทรงเดช กินรีจึงเสนอตัวเข้าแลก หากมีใครผู้ใดสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ได้จากความงดงามของนาง ซึ่งเป็นที่หมายปองของทุกผู้ในป่าหิมพานต์ กลับทำให้เรื่องเลวร้ายขึ้น เมื่อบรรดาสัตว์ต่างเริ่มสู้รบ กับเพื่อแย่งชิงนาง กลายเป็นสงคราม กบิลปักษา ก้มหน้า มือกุมหัวใจ และมองที่มือ พร้อมกับกล่าวว่า ข้ามีเพียงแค่มือเปล่า แต่จะยอมเข้าไปเผชิญความยิ่งใหญ่ เพื่อจะคอยประคองตัวนางนั้นไว้ ข้ายอมไม่ได้ให้ผู้ใดแย่งชิง ไม่ว่าจะเป็นสรรพชีวิต แม้นแสงอาทิตย์แผดเผา แม้นต้องสู้กับเหล่าพญาผู้สูงศักดิ์กบิลปักษากล่าวพร้อมบินขึ้นไปบนนภา เค้าใช้มือควักหัวใจที่อกออกมาพร้อมกับตะโกนว่าแม้นข้าจะมีเพียงมือเปล่า แต่สิ่งที่คืออาวุธของข้า ก็คือ หัวใจ ขอทำเพื่อทุกสิ่งบนโลกา ข้าขอเรียกมันว่า ความเสียสละ”  เมื่อกล่าวจบหัวใจในมือกบิลปักษากลายสภาพเป็นดาบและพุ่งเข้าไปหาเสาค้ำจุนโลก พร้อมๆกับที่ร่างของกบิลปักษาร่วงหล่นสู่พสุธา ดาบแห่งความเสียสละพุ่งเข้าเสียบที่ร่างของปลาอานนท์ เกิดแสงเปล่งประกาย สั่นสะเทือนทั่วโลกาหิมพานต์ เสาค้ำจุนล้มลงและกระแทกกับพระอาทิตย์จนถูกดีดลอยไกลออกไป ส่วนดวงอาทิตย์อีกดวงที่แยกออกมากลับเริ่มดึงดูดผืนพสุธาเข้าหา แปรเปลี่ยนโลกาจากหลังเต่า กลับกลายเป็นรูปลักษณ์ที่เป็นวงกลมรี ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มกลับมาปกติอีกครั้ง ร่างของกบิลปักษาที่ไร้หัวใจและวิญญาณแล้วในเพลานั้น ถูกโอบอุ้มด้วยนางเทพกินรี ตั้งแต่วินาทีนั้น กบิลปักษาทำให้โลกได้รู้จักคำว่า ความเสียสละ ซึ่งเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นโลกใบใหม่ และกลับกลายเป็นปกติสุข  และส่วนระมาดเกิดความสำนึกผิดในการกระทำของตัวเอง จึงกลับใจผันตัวเองจากกินเนื้อเป็นกินพืชแทน และบำเพ็ญจิต และรักสงบนับแต่นั้นมา แลเปลี่ยนชื่อเป็นแรด ในปัจจุบัน
ตำนานป่าหิมพานต์ ตามตำนานกล่าวไว้ว่าป่าหิมพานต์ตั้งอยู่บนเขา หิมพานต์ หรือหิมาลายา (หิมาลัย) คำว่า หิมาลายานั้นเป็นคำที่ มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่าสถานที่ๆ ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ภูเขาหิมพานต์ประดิษฐานอยู่ในชมพูทวีปมีเนื้อที่ ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์ เท่ากับ ๑๐ ไมล์ หรือ ๑๖ กิโลเมตร) วัดโดยรอบได้ ๙,๐๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด มีสระใหญ่ ๗ สระคือ ๑ สระอโนดาต ๒ สระกัณณมุณฑะ ๓ สระรถการะ ๔ สระฉัททันตะ ๕ สระกุณาละ ๖ สระมัณฑากิณี ๗ สระสีหัปปาตะ บรรดาสระใหญ่ทั้ง ๗ นั้น สระอโนดาตแวดล้อมไปด้วยภูเขาทั้ง ๕ ที่จัดเป็นยอดเขาหิมพานต์ ยอดเขาทุกยอด มีส่วนสูงและสัณฐาน ๒๐๐ โยชน์ กว้างและยาวได้ ๕๐ โยชน์
กบิลปักษา      กบิลปักษาเป็นสัตว์ประหลาดกึ่งนกกึ่งลิง โดยมีปีกนกติดอยู่ที่หัวไหล่ และ มีหางเหมือนนก โดยปกติระบายสีกายเป็นสีดำ ลักษณะครึ่งลิงครึ่งนกศีรษะถึงเอวเป็นลิงจากเอวลงไปเป็นนกมีปีก เป็นลิงประหลาดในเรื่องรามเกียรติ์ไม่มี เป็นสัตว์ผสมใหม่
กินนร-กินรี     กินรี และ กินร เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก มีปีกบินได้ ตามตำนานเล่าว่าอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เชิงเขาไกรลาศ นับเป็นสัตว์ที่มีปรากฏในงานศิลปะของไทยมาก ส่วนในวรรณคดีไทยก็มีการอ้างถึงกินรีด้วยเช่นกเป็นสิ่งมีชีวิตในเทพนิยายของทางชมพูทวีปครับ พวกสิ่งมีชีวิตแปลก มักถูกกำหนดให้อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งตำแหน่งปัจจุบันตรงกับ ป่าบริเวณเชิงเทือกเขาหิมาลัย
พญานาค       พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น
ครุฑ      ครุฑเป็นพญาแห่งนกที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์เชื่อว่าปกติอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งนกอินทรี ที่ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า สุบรรณซึ่งหมายถึง ขนวิเศษครุฑเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง สามารถบินได้รวดเร็ว ทั้งยังมีสติปัญญาเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด อ่อนน้อม ถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ น่าสรรเสริญ
ระมาด       คำว่า ระมาดในภาษาเขมรแปลว่าแรด ระมาดเป็นสัตว์หิมพานต์ที่ มาจากสัตว์ที่มีตัวตนอยู่จริง แต่อาจจะเพี้ยนไปบ้าง เพราะระมาด หรือแรดเป็นสัตว์ ป่าหายาก ศิลปินไทยในสมัยโบราณไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว ระมาดหน้าตาเป็นอย่างไร จึงได้แต่วาดตามคำอธิบาย ระมาดที่ปรากฎในศิลปะไทยจึงดูคล้ายกับตัวสมเสร็จ ซึ่งมีจมูกเป็นงวงสั้นๆ ดูน่าจะเป็นพันธุ์ Malayan Tapir ที่มีอยู่ในเขตตะวันตกของประเทศไทย
วเนกำพู     เป็นสัตว์ผสมระหว่างลิงกับหอยครึ่งบนเป็นลิง ครึ่งล่างเป็นหอย อาศัยอยู่ในน้ำ กินผลไม้เป็นอาหาร
สิงฆ์         นับได้ว่าสัตว์ในป่าหิมพานต์ส่วนใหญ่จัดอยู่ในหมวดสิงห์ คงเป็นเพราะสิงห์เป็นสัตว์ที่ดูสง่า และน่าเกรงขาม สิงห์ในตำนานหิมพานต์สามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ ชนิดหลักๆ คือ ราชสีห์ และ สิงห์ผสม ราชสีห์เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังสูง ราชสีห์มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิดคือ บัณฑุราชสีห์ กาฬสีหะ ไกรสรราชสีห์ และ ติณสีหะ ส่วนสิงห์ผสมนั้นมีอยู่มากมาย โดยปกติสิงห์ผสมคือสัตว์ประสมที่มีลักษณะของ ราชสีห์กับสัตว์ประเภทอื่นนอกเหนือจากที่มีอธิบายไว้ว่ามีกายสีม่วงอ่อน สิงฆ์มีลักษณะเหมือนราชสีห์ทั่วไป
คชสีห์      คชสีห์ เป็นสิงห์ผสมที่มีกายเป็นสิงห์ และมีช่วงหัวเป็นช้าง ตามตำรากล่าวว่าคชสีห์มีพลังเทียบเท่าช้างและสิงห์รวมกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม คชสีห์มีลักษณะคล้ายสัตว์หิมพานต ์อีกชนิดหนึ่งชื่อทักทอ
                                  
สุกรนที      สัตว์ผสมระหว่าง หมูกับปลา ท่อนบนจนถึงเอวเป็นหมูจาเอวลงมาเป็นปลา อาศัยอยู่ในน้ำ
หงส์           เป็นนกในวรรณคดีไทย มีขนสีเหลืองอร่าม เป็นนกที่สง่างามและมีความสวยงาม มีการนำความงามของหงส์ไปเปรียบกับผู้หญิง
มัจฉามังกร   เป็นสัตว์ผสมระหว่างมังกรกับปลา ครึ่งบนจาถึงเอวเป็นมังกรจากเอวลงมามีร่างเป็นปลา จะอาศัยอยู่ในน้ำ
ปลาอานนท์   ในสมัยก่อน คนมีความเชื่อกันว่า ใต้พื้นโลกลงไป มีปลาตัวขนาดใหญ่มหึมาหนุนรองรับโลกไว้ เรียกชื่อปลานั้นว่า ปลาอานนท์ เวลาที่ปลาอานนท์พลิกตัวแต่ละครั้งก็จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น

อ้างอิง
http://asakuramikki.wordpress.com

                     

พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน
          หนังสือพรรณนาพฤกษากับสัตวาภิธานเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องพรรณไม้ พืช และเรื่องสัตว์   ต้นฉบับของพรรณนาพฤกษากับสัตวาภิธาน   มาจากบรรดาหนังสือเก่า  ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า-ประภัสสร  ทรงสั่งสมไว้แต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์   แต่หนังสือพรรณนาพฤกษากับสัตวาภิธาน  ผู้แต่งคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร  ( น้อย  ต้นสกุล อาจารยางกูร )   ทรงแต่งไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗  ปีวอก
          การเรียบเรียง   เริ่มต้นด้วยคำนำ   ในคำนำจะบอกถึงผู้แต่ง ต้นฉบับ   แต่งไว้เมื่อใด  จุดมุ่งหมายในการแต่ง   และชีวประวัติ (ย่อ)   ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประภัสสร  แล้วเริ่มเนื้อหาด้วยเรื่องพรรณพฤกษา  และปิดท้ายด้วยเรื่องสัตวาภิธาน
            จุดมุ่งหมาย   ผู้แต่งทรงแต่งไว้เพื่อให้เด็กทราบคำศัพท์ ไม้  พืช  และสัตว์   เพราะเคยเป็นเครื่องเล่นของเด็กในการประกวดว่าใครจะจำได้มากกว่า   เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหารยังเด็กเคยได้เล่นประกวดศัพท์นก ศัพท์ไม้  เมื่อโตขึ้นไปอยู่ต่างประเทศก็เคยเล่นประกวดแข่งชื่อ บ้านเมือง  ทะเล  แม่น้ำ  ลำธาร  ภูมิลำเนา  ป่า  ภูเขา   ในตำราภูมิศาสตร์  ซึ่งเป็นวิธีเล่นเช่นเดียวกัน
          รูปแบบการแต่ง  ในเนื้อหาพรรณนาพฤกษาแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ คือ  กาพย์ยานี ๑๑   กาพย์ฉบัง  ๑๖   และกาพย์สุรางคนางค์  ๒๘   แบ่งตามหมวดหมู่  มาตรา  เริ่มจากแม่  ก กา   จนถึง  แม่  เกย 
          ตัวอย่าง         แม่  ก กา  แต่งเป็นกาพย์ยานี  ๑๑
                             ๏ จำปาและจำปี                    มะลุลีแลยี่โถ
                     เพกาพะอาโพ                              เหล่าโสนตะโกนา
                             ๏  ชาลีสาลี่คละ                    จำปาดะดูสาขา
                     มะกล่ำสำมะงา                                      พระยายาสาระภี
 มาตรา  แม่  กน  แต่งเป็นกาพย์สุรางคนางค์  ๒๘  แต่ก็มีแม่  ก กา  ปนด้วย
                             ๏  ต้นจะนกระพ้อ     ต้นคนที่สอง      คนที่เขมา     ลำแพนทุเรียน
                             ตะเคียนกันเกรา        ต้นเลี่ยนเสลา     มันเสาเถาปูน
          
           มาตรา  แม่  กง  แต่งเป็นกาพย์ฉบัง  ๑๖  แต่ก็มีมาตราตัวสะกดแม่อื่นปนอยู่ด้วย
                             ๏   ไม้ฝางมะเฟื่องเรื่องสี                   ต้นทำมังมี
                             ข้างเมืองนครดรดง
                             ๏   มะม่วงมะปรางกอปรง        มะทรางคันทรง
                             ประยงยี่เข่งเต็งลัง
           มาตรา  แม่ กก  แต่งเป็นกาพย์ยานี ๑๑  แต่มีมาตราแม่ ก กา , แม่ กง , แม่ กน  ปนอยู่ด้วย
                             ๏   ไม้สักอีกไม้โศก                ไม้อุโลกสูงลอน
                             นางกวักเหมือนกวักกร            นางบังอรกวักเรียกใคร
                             ๏   เรียกชู้ฤๅเรียกพี่               แฝงอยู่นี่ฤๅอยู่ไหน
                             ฤๅกวักเรียกลองใจ                 ให้ชะงักพะวักวน
         
             ส่วนสัตวาภิธาน นั่นก็แต่งล้ายกันกับ พรรณพฤกษา   เริ่มจาก แม่ ก กา  จนไปถึง แม่ เกย   แต่จะแตกต่างตรงที่  แบ่งเป็นประเภทของสัตว์และมาตราตัวสะกด  พรรณพฤกษา  แบ่งเป็นตามมาตรา 
 เนื้อหา   ในพรรณพฤกษาได้แบ่งประเภทของต้นไม้เป็น ๒ ประเภทใหญ่  คือ
         ๑.   รุกขชาติ   ลำต้นข้างนอกอ่อน  เช่น  ไม้แดง  ประดู่  ชิงชัน  เต็งรัง  มะเกลือ  เป็นต้น
        ๒ ติณะชาติ   ลำต้นข้างนอกแข็งข้างในอ่อน  เช่น  ต้นตาล  อ้อย  หมาก  มะพร้าว  หญ้าทุกชนิด หรืออ่อนทั้งข้างนอกและข้างใน   เช่น  ต้นกล้วย
   จัดอีกอย่างหนึ่งเป็น  ๕  ประเภท  คือ
๑.     รุกขชาต   ติณชาติ
๒.     ลัดดาชาติหรือวิลีชาติ  เป็นเกาเลื้อย
๓.     คัจฉชาติ  เป็นกก  เป็นกอ
๔.     สกลชาติ   เกิดบนบก
๕.     ชลชาติ   เกิดในน้ำ
          ซึ่งชื่อของพันธ์ไม้นั้นจะรวบรวมเป็นหมวดหมู่ตามมาตราตัวสะกด  จากแม่ ก กา , แม่ กก , แม่ กง ,แม่ กด,  แม่ กน,  แม่ กบ,  แม่ กม, และ แม่ เกย  ตามมาตรา  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

มาตราแม่ ก กา  ประพันธ์กาพย์ยานี ๑๑
๏   แกแลแคมะคะ                 กอสละคละดีหมี
หว้าเปล้าเถาดีปลี                            เถาเทพีมะละกอ
๏   ไข่เน่ากะเปาปรี                ไม้ยีรูไม้สมอ
ระกำสำมะลอ                      ไม้ตะคร้อปอกะเจา
มาตราแม่กน   ประพันธ์กาพย์สุรางคณางค์ ๒๘ แต่มีแม่ ก.กา  ปนอยู่ด้วย
               ๏   ที่ไพรวัน    ต้นไม้อนันต์   ลำพันต้นสน   กระถินลิ้นจี่  
               นนทรีปะปน   มะดันประดน   ระคนเถาคัน
             ฉนวนสนุ่น   ทนดียี่สุ่น   ขนุนขนัน   กระวานก้านพลู
               ซ่อนชู้อัญชัญ   มณฑามลิวัล   อินจันกรรณิกา
มาตราแม่กง ประพันธ์ด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖ แต่มีมาตราตัวสะกดอื่น ปนอยู่ด้วย
          ๏   ประยงยี่แข่งเต็งรัง                      ขานางหูกวางมะสัง  
              หางไหลใบบัง  
          ๏   กะรังตังช้างก้างปลา                    ยูงยางกร่างไกรใบหนา
              พิลังกาสา
มาตราแม่กก  ประพันธ์ด้วยกาพย์ยานี ๑๑ แต่มีแม่ก.กา แม่กง และแม่กน ปนอยู่ด้วย
          ๏   กระบาดต้นกระบก            กระทกรกเข้าระคน  
ไม้หมากบุญนาคปน                กะลำภักต้นรักลา 
              ๏   ไม้ซากแทรกไม้ซีก        ชัยพฤกษ์กิ่งสาขา
ต้นปริกต้นจิกนา                    ลูกตาลปลาดุกดกครัน
มาตราแม่กด ประพันธ์ด้วยกาพย์ยานี ๑๑ แต่มี แม่ก.กา แม่กน แม่กง และแม่กก ปนอยู่ด้วย 
          ๏   สัมปะรดสัมปะรัส             ชีกุลัดสลัดใด
ราชดัดถัดกันไป                    วันกรดใหญ่หญ้าขัดมอญ
          ๏   มะขวิดชิดไม้ขวาด             ต้นมะหาดไม้แก่อ่อน
เสาวรสอรชร                                 รสสุคนธ์ปนพุดลา
 มาตราแม่กบ   ประพันธ์กาพย์สุรางคณางค์ ๒๘
          ๏   กอหญ้าตะกรับ   อีกต้นมะพลับ   เคียงกับผอบ   พุดจีบพุดจาบ
ตะขาบตะขบ    ผักเต่าผักตบ   ดาดื่นพื้นเมือง
          ๏   ต้นผักกระชับ   อีกต้นระงับ   กระจับไทยเมือง   หมู่กออังกาพย์
          กุหลาบแดงเหลือง   ไม้ราบฤทธิเรือง   แพ้ว่านหณุมาน
มาตราแม่กม  ประพันธ์กาพย์ยานี ๑๑
          ๏   มะขามไทยไม้ลั่นทม           เหล่าสุกรมนนสวรรค์  
มะยมชะอมพัน                     ไม้เขี่ยนขั้นต้นพะยอม
          ๏   กระทุ่มมะรุมรก                    ต้นกุ่มบกโคกกระออม
สะเดาเถากระดอม                 อีกกระย่อมเป็นยาลม
มาตราแม่เกย  ประพันธ์ด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖
          ๏   นับตั้งแต่ต้นอบเชย                      ไม้กระยาเลย
แลเตยทั้งสองพ้องนาม
          ๏   เตยหอมอีกทั้งเตยหนาม        มีในเขตคาม
แลชายแม่น้ำลำคลอง
ความในตอนท้ายของพรรณพฤกษาว่าด้วยชนิดของมะม่วง  และ ทุเรียน  ซึ่งรวบรวมเรื่องของพันธุ์มะม่วงและทุเรียนในสยามอย่างละเอียดที่ไม่ปรากฏในเรื่องใดมาก่อน
    ชื่อพันธุ์มะม่วงที่ทรงได้รวบรวมไว้ มีดังต่อไปนี้
 ม่วงเทพลำลึก   ม่วงพราหมณ์      ม่วงสาวกระทืบหอ     ม่วงพิมสวรรค์      ม่วงรำพึง    ม่วงเศียรคชสาร     ม่วงเนย               ม่วงทองขาว    ม่วงทองคำ             ม่วงแก้วขาว        ม่วงแก้วดำปัน       ม่วงการเวก
ม่วงเทพสิน                    ม่วงสาวน้อย                  ม่วงเขียวสะอาด      ม่วงนกกระจิบลาย
ม่วงล่าหมาไม่แล          ม่วงสาวกระทืบยอด      ม่วงมละกอ               ม่วงหมอนทอง
   ชื่อพันธุ์ทุเรียนที่ทรงได้รวบรวมไว้ มีดังต่อไปนี้
ทองสุก           ทองย้อยยาน             ทองหยิบ         ทองหา           ทองคำตลับทอง         
สีนาก            เหรา    การะเกด         สาวสวรรค์      นางแดงโศก
นางกระเทย               แดงแม่เถ้า       แดงเปียก        มังกรหรืองามกุญชร     สนั่น    ลมุด
หมอนทอง                 สาวหยุด         นกกระจิบ        แมลง
 
ส่วนเนื้อหา สัตวาภิธาน  แบ่งประเภทของสัตว์ว่าด้วย ๔ ประเภท  ได้แก่
๑.     พหุบท (สัตว์ที่มีเท้ามากเกิน ๔ ขึ้นไป )  เช่น  ตะขาบ  กิ้งกือ  
๒.     จัตุบาท  (สัตว์  ๔ เท้า )   เช่น  ช้าง  ม้า  โค  กระบือ
๓.     ทวิบาท  (สัตว์ ๒ เท้า )   เช่น  มนุษ  เป็ด  ไก่   นก 
๔.     อะบาทะกา (สัตว์ไม่มีเท้า )  แบ่งได้  ๒ ชนิด  คือ  ถะละชา (สัตว์เกิดบนบก) ชะละชา (สัตว์เกิดในน้ำ)
        จัดได้อีก  ๒  อย่าง  คือ  สัตว์มีฟองมีไข่ และไม่ต้องมีฟอง  ดังช้าง  ม้า   โค   กระบือ
        จัดได้อีก  ๒  อย่าง  คือสัตว์มีปีกและไม่มีปีก  และสัตว์ที่มีปีกจัดได้อีก ๓ อย่าง  คือมีปีกแข็งแรงบินสูง บินไปไกลๆได้  มีปีกบินได้แต่เตี้ยๆ ต่ำๆ  มีปีกบินไม่ได้  
               ในแต่ละประเภทได้ยกตัวอย่างสัตว์  ลักษณะความเป็นอยู่  รวมทั้งอาหารของสัตว์เหล่านั้น  คำอธิบายเหล่านั้นได้แต่งเป็นกาพย์ ทำนองเดียวกับลักษณะของการแต่งพรรณพฤกษา
            การคล้ายคลึงในการแต่งอีกประการหนึ่งของสัตวาภิธาน และพรรณพฤกษา ก็คือการดำเนินความตามลำดับมาตราตัวสะกด โดยเริ่มจาก แม่ ก กา  จนถึง แม่ เกย  ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                   ประเภทพหุบาท  ประพันธ์กาพย์ฉบัง ๑๖
          ๏   ตะบองพลำใหญ่ยง                     อยู่ในป่าดง
             ดุจตัวตะขาบไฟแดง
          ๏   มีพิษมีฤทธิ์เรี่ยวแรง                    พบช้างกลางแปลง
             เข้าปล้ำเข้ารัดกัดกิน                              
          ๏   ตะขาบพันธุ์หนึ่งอยู่บนดิน              พรรณหนึ่งอยู่ถิ่น
             สถานบ้านเรือนคน
          ๏   ตะขาบไต่ขอบวอนซน                  กิ้งกือคลานวน
              แมงมุมขยุ้มหลังคา
          ๏   แมงป่องจ้องชูหางหา                             สิ่งใดจะมา
             ปะทะก็จกจี้แทง

ประเภทจตุบาท  ประพันธ์กาพย์สุราคนางค์  ๒๘
                 ๏    เห็นกวางกลางทุ่ง   ละมั่งหมู่มุง  กระทิงวิ่งไขว่
                 คำโองแล่นจี๋      รี่เข้าดงไผ่      กินหญ้าไบ่ๆ    ยืนเบิ่งดูกัน
                 ๏    เลียงผาโผนแผ่น     โดนผากระเดน   เผ่นคล่องว่องครัน
                 อีเก้งเร็งร้อง    ก้องพนาวัน     บ่างบินโผผัน    ไปพ้นต้นเต็ง
                 ๏     กระจงกระเจิง      แล่นร่าร่านเริง      รนร้อนเสียงเรง
                ฝูงลิงฝูงค่าง    ครวญครางแล้เซง     ดังเสียงละเบ็ง   บเว้นวันวาธ

ประเภททวิบาท  ประพันธ์กาพย์ยานี ๑๑
                  ๏   นกหัสดีลึงค์                     เสียงอึงคะนึงในเมฆี
                   กายางางวง                         เหมือนกุญชรช้อนชูเศียร
                  ๏   สัตวาบะหว้าสุก      เฝ้าเคล้าคลุกบ่จากเจียร
                  เลือกผลกินเตียน                    แล้วบินบากจากหว้าพลัน
                 ๏   วิหคนกกระหิด        อวดว่าฤทธิแรงแข็งขัน
                 บินโร่โยผกผัน              ถูกแผ่นผาน่าสิงขร

ประเภทอปาทกา  ประพันธ์กาพย์สุราคนางค์  ๒๘
      ๏  อีกสัตว์น้ำขว้ำ            ชุมชาติสัตว์น้ำ            บนบกก็มี
      คือหอยนาๆ         ในมหาวารี       หอยสังข์ใสสี                        เศวตวรรณฉาย
      ๏  แมลงภู่จุ๊บแจง         กะพงหอยแครง     หอยเสียบหอยชาย
      กะปุกนางลม     ปากเป็ดมีสาย      หอยหลอดนมสาว
      ๏  พรรณหนึ่งหอยกาบ      งับๆ งาบๆ                สองกาบรียาวรอยปากสนิธ      เปิดปิดเป็นคราว     ภายนอกพรายพราว     เนื้อในใหญ่หนา
                    สัตวาภิธาน  เป็นงานนิพนธ์สั้นๆ ท่านผู้แต่งคงตั้งใจให้เป็นคู่กับพรรณพฤกษา ซึ่งว่าด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ ความมุ่งหมายของเรื่องนี้เพื่อให้ “พ่อหนู” ได้ฝึกอ่านในเรื่องง่ายๆ ในสภาพแวดล้อมที่พอพบเห็นได้ดังเช่น
๏   คางคกคางคาก ใหญ่เล็กหลากๆ  มากอเนกา
หนูพุกอยู่รู   ที่คูคันนา   อีกนากกินปลา    กายาเทาๆ
                   ๏   กระรอกสีแดง   ส้อนกิ่งไม้แฝง   โจนแรงไม่เบา
คนไล่ว้าวุ่น    กระสุนยิงเอา   ใหญ่ๆเยาว   เอามาทุกคน
                   ๏   จิ้งจกตุกแก   พอใจอยู่แต่   ที่เย่าเรือนชน
จิ้งจกร้องทัก   คี่มักเป็นกล    ทุกผู้ทุกคน   มักยั้งฟังการณ์
          จุดเด่นของแบบเรียน     พรรณพฤกษามีการแบ่งเนื้อหาตามหมวดมาตรา และแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี ๑๑    กาพย์ฉบัง ๑๖     กาพย์สุรางคนางค์  ๒๘  ส่วนของสัตวาภิธานก็มีเรียงตามมาตรา  และแต่งคำประพันธ์  กาพย์ยานี ๑๑    กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘    ฉบัง ๑๖  เหมือนกับพรรณพฤกษา ทั้งสองเรื่องจะบอกรายละเอียดของแต่ละประเภทอย่างชัดเจน
      
          เหมาะสมกับผู้เรียนประเภทใด  
          พรรณพฤกษาและสัตวาภิธานจัดเป็นหนังสืออ่านเสริมให้กับเด็กนักเรียน
          ลักษณะการแต่ง                     
          - กาพย์ยานี ๑๑
          - กาพย์ฉบัง  ๑๖
          - กาพย์สุรางคนางค์  ๒๘
เกร็ดความรู้ต่างๆ
        ในพรรณพฤกษาท่านยังแทรกเกร็ดต่างๆ  ของพันธุ์ไม่เหล่านั้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน   ซึ่งรวมมาถึงในปัจจุบันด้วย  เช่น  ประวัติของส้มจีน และ ส้มสีเหลือง   มีเรื่องราวที่พรรณนาไว้ว่า
                             ๏   ส้มจีนเจ๊กเอามา               ในนาวาสำเภาใหญ่
                             รสหวานเย็นชื่นใจ                  มักจะใช้ชั่งตราชู
                             ๏   ส้มหนึ่งสีผิวเหลือง            มาแต่เมืองตรังกานู
                             รสชาติก็พอดู                       หวามสนิธชิดชมครัน

มีการนำวรรณคดี / หลักภาษามาใช้เรื่องใด
          มีการใช้หลักภาษาโดยใช้มาตราตัวสะกดแต่ละแม่ในการพรรณนาความ 

ความแตกต่างของภาษาในอดีตกับปัจจุบัน
              อดีต                                          ปัจจุบัน
              เปน                                               เป็น
               บื                                                 ปี
               ซราบ                                            ทราบ
               ทเล                                              ทะเล
               โปรส                                            โปรด
               ฤา,รือ                                           หรือ
               ต้นธานตวัน                                    ต้นทานตะวัน
               สอาด                                           สะอาด
               ลมุด                                            ละมุด
               ละคร                                           ละคร             


อ้างอิง
  พระยาศรีสุนทรโวหาร   น้อยอาจารยางกูร.๒๔๗๑.พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน. โสภณพิพรรฒธนากร.